" ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้นสิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้นเป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิดแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือ ความเป็นผู้มีมิตรดี ฉันนั้นเหมือนกัน...... " กัลยาณมิตตสูตร สัง. มหา. เล่มที่๑๙ ข้อ ๑๒๙
ธรรมจักรหินแกรนิค
ประวัติวัดฉลาดธรรมาราม
ตั้งอยู่ที่ ๒๑๘ หมู่ ๕ บ้านไทยสามัคคี ตำบลกุรุคุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม จากการถวายที่ของคุณแม่วนิดา สุดสงวน ซึ่งเป็นลูกสาวคนโตของคุณตาฉลาด สุดสงวน อดีตนายกพุทธสมาคม จังหวัดนครพนม ได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดได้จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๘ สมัยที่คุณตาฉลาดยังดำรงชีวิตอยู่นั้น เมื่อเมษายน ๒๕๓๐ เคยปรารภเรื่องการสร้างวัดในพระพุทธศาสนา เน้นการศึกษาพระธรรมคำสอนและการประพฤติปฏิบัติธรรมตามแนวทางคำสอนของพระพุทธองค์ ช่วงที่ท่านยังดำรงชีวิตอยู่นั้น ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการสร้างวัดแต่อย่างใด ต่อเมื่อหมดสมัยของท่าน คุณแม่วนิดาซึ่งเป็นทายาท ปรารภเจตนารมณ์ของคุณพ่อ จึงมอบถวายที่ดินแปลงดังกล่าวนี้
ปณิธานหลักวัดฉลาดธรรมาราม
ดำรงบนพื้นฐานแห่งพระธรรมที่ตรัสไว้ดีแล้ว
๑ เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมให้มีคุณภาพและสันติสุข
๒.เป็นที่ปรึกษาที่มีคุณภาพให้สังคม
๓.บูรณาการภูมิปัญญาในอดีตให้ดำเนินไปร่วมกับภูมิปัญญาปัจจุบัน
๔. ฝึกบุคคลให้สามารถนำศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้สามารถนำออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่
๕.รักษาธรรมชาติแวดล้อมให้เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม
๖.สร้างแหล่งเรียนรู้ให้บุคคลเข้าใจตนเอง
พระไตรปิฎก
กับความดำรงอยู่อย่างมั่นคงของพระพุทธศาสนา
ชาวพุทธเราจำเป็นต้องศึกษาพระไตรปิฎก มิฉะนั้นจะอ่อนแอกว่าศาสนิกแห่งศาสนาเพื่อนบ้านโดยภาพรวมเพื่อนต่างศาสนารู้และเรียนคัมภีร์หลักทางศาสนาของเขา......ทำไม ถึงมีความจำเป็น เพราะพระไตรปิฎก เป็นคัมภีร์หลัก เป็นจุดศูนย์รวม และเป็นแหล่งกำเนิดวัฒนธรรมประเพณีต่างๆของชาวพุทธ หากไม่ได้ศึกษา ช่าวพุทธจะไม่เข้าใจว่า สิ่งที่ตนเองเป็นอยู่นับถืออยู่ เป็นมาอย่างไร อาทิ การกรวดน้ำ การปล่อยปลา งานศพ ประเพณีบุญให้ทานต่างๆ ล้วนมีที่มาจากพระไตรปิฎกทั้งสิ้น......พระไตรปิฎก จำนวน ๔๕ เล่ม สอนอะไร? พระไตรปิฎก เมื่อว่าโดยภาพรวม สอนมุมมองและความเข้าใจที่นำไปสู่ความไม่เป็นปัญหา ความพ้นทุกข์ทุกๆระดับของ ๑ชีวิตและกิจกรรมต่างๆทุกอย่างในชีวิต ๒ บุคคล ๓ สัตว์ ๔ สังคม ๕ โลก ๖ จักรวาฬ ๗สรรพสิ่ง ชีวิต และกิจกรรมต่างๆในการดำเนินชีวิตมีมากมาย อาทิ การเกิด แก่ เจ็บตาย ความรัก ความชัง ติเตียน สรรเสริญ ความเจรจาปราศัย ปรุึกษาหารือ ความกลัว ความกล้า การเกี้ยวพาราสี การมีเพศสัมพันธ์ การครองคู่ การสร้างครอบครัว การมีบุตร ทะเลาะเบาะแว้ง การคืนดีกัน การลงโทษ การสั่งสอน การสร้างมิตร การรู้ทันศัตรู การอ่านคน การครองใจคน การปลูกต้นไม้........และกิจกรรมต่างๆในชีวิตทั้งหมด พระไตรปิฎกได้ตรัสแนวทางไว้ทั้งหมดแล้ว เมื่อเราศึกษาพระไตรปิฎกมีความเข้าใจระดับหนึ่งพอจะเห็นภาพรวมของชีวิตได้ เราอาจพบว่า สังคมปัจจุบัน การสอนธรรมะเน้นเรื่องการให้อภัย ปล่อยวาง มองตนเอง แต่กลับไม่สอนเรื่องการทันคน มองมารยาเล่ห์เหลี่ยมคนออก ทั้งๆที่พระไตรปิฎก ก็สอนไว้เรื่องการทันคน ทันเหลี่ยมเล่ห์ของคน ถ้ามีแต่สอนให้อภัยต่อความผิด โดยไม่สอนเรื่องการทันคน ทันสถานการณ์ ชาวพุทธจะเป็นคนอ่อนแอ คนดีจะอ่อนแอ เป็นเบี่ยล่างคนพาล อยู่ในสังคมอย่างยากลำบาก ถูกเอารัดเอาเปรียบตลอด และถูกกลืนให้เสื่อมสลายสูญหายไปในที่สุด แต่ถ้าศึกษาพระไตรปิฎกจนเห็นภาพรวมที่พระธรรมมีอิทธิพลต่อการปฏิบัติทางที่ถูกต้องในชีวิต มองการปฏิบัติตามธรรมอย่างเป็นระบบ รู้จักการให้อภัย รู้จักการลงโทษ รู้ทันไม่ให้ถูกครอบงำ รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมมารยา าวพุทธ คนดีจะเข้มแข็ง อยู่ในสังคมอย่างสง่างามด้วยคุณคือศีล......การศึกษาพระไตรปิฎกจึึงทำให้เห็นการปฏิบัติธรรมที่ระบบครอบคลุมกิจกรรมทุกอย่างในชีวิต.. ..พระไตรปิฎก จะทำให้เห็นระบบของพระพุทธศาสนาในการสร้างคน คนไ่ม่มีบุญเมื่อนับถือพระพุทธศาสนาก็จะเป็นคนมีบุญ คนไม่มีบารมีเมื่อนับถือพระพุทธศาสนาก็จะมีบารมี คนไม่มีปัญญาเมื่อนับถือ ก็จะมีปัญญา เป็นต้น สมดังที่ตรัสว่า เป็นสารถึผู้ฝึกบุรุษผู้สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
ระเบียบในการเข้ามาบรรพชา-อุปสมบท
ผู้มุ่งบรรพชา-อุปสมบท
๑ ต้องไม่เป็นผู้ไม่มีภาระติดตัว คือ ควรให้เวลากับตนเองเตรียมตัวที่วัดโดยการนุ่งขาว รักษาศีล ๘
๒. ต้องเรียนรู้ที่จะบวชใจก่อนที่จะได้บรรพชา-อุปสมบทจริง
๓. ต้องได้คำขอบวชภาษาบาลี และทำความเข้าใจขั้นตอนการบรรพชา-อุปสมบท
๔. ต้องได้ฝึกการครองผ้ากาสาวพัตร์ ๓ รูปแบบ คือ ห่มคลุม ห่มเฉวียงบ่า ห่มดอง จนสามาถครองผ้าเองได้เป็นก่อนการบรรพชา-อุปสมบท
๕. ต้องทำความเข้าใจว่า การบวชเพื่อการฝึกหัดขัดเกลาตน ความเป็นอยู่จึงแตกต่างจากเมื่อครั้งเป็นฆราวาส
ระเบียบการเข้ามาอบรมจิตใจของคฤหัสถ์ชาย-หญิง
ฆราวาสชาย-หญิงผู้มุ่งเข้ามาบำเพ็ญธรรมในวัด
๑. ต้องสมาทานอุโบสถศีล ๘ ข้อ
๒. เว้นจากอบายมุขทุกชนิด
๓.พยายามสำรวมระมัดระวังการแสดงออกทางกาย-วาจา พยายามพูดกถาวัตถุ๑๐ มีสีลกถาเป็นต้น